แหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญา
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ผืนป่ามรดกโลกในจังหวัดบุรีรัมย์ ลมหายใจแห่งสุดท้ายของสัตวป่า
เขียนโดย ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อยู่ในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติป่าดงใหญ่ อำเภอโนนดินแดง และอำเภอปะคำ จังหวัดบุรีรัมย์ มีเนื้อที่ 195,486 ไร่ หรือประมาณ 340 ตารางกิโลเมตร พื้นที่ถูกแบ่งออกเป็น 2 ส่วน มีทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 348 ตัดผ่าน เป็นป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญ ได้แก่ ห้วยลำนางรอง ห้วยลำปลายมาศ การประกาศพื้นที่อนุรักษ์เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัย หลบภัย ขยายพันธุ์ และประกอบกิจกรรมของสัตว์ป่า รักษาพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ ไว้ และช่วยรักษาแหล่งต้นน้ำลำธาร ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวบุรีรัมย์และจังหวัดใกล้เคียงให้คงอยู่ตลอดไป
ป่าดงใหญ่ มีพื้นที่ติดต่อกับป่าทับลาน ปางสีดา และตาพระยา ทำให้มีพื้นที่ป่าติดต่อกันเป็นบริเวณกว้างใหญ่ และผนวกเข้าเป็นผืนป่าดงพญาเย็น-เขาใหญ่ มรดกโลกทางธรรมแห่งที่ 2ของไทย
ลักษณะพื้นที่มีทุ่งหญ้า แหล่งน้ำและดินโป่งกระจายอยู่ทั่วพื้นที่ จึงทำให้มีสัตว์ป่าชุกชุม ที่สำคัญคือมีเลียงผา ซึ่งเป็นสัตว์ป่าสงวน 1 ใน 15 ชนิดที่หายาก และมีสัตว์ป่าอีกหลายชนิดที่สำคัญ เช่น ช้างป่า กระทิง วัวแดง เสือ กวาง เก้ง หมี กระจง อีเห็น หมูป่า หมาใน แมวดาว เสือปลา ลิง ชะนี ฯลฯ สัตว์เลื้อยคลาน และนก ซึ่งมีมากกว่า 150 ชนิด
สำนักงานเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ ตั้งอยู่ริมถนนสาย 348 (โนนดินแดง-ตาพระยา) ลงจากเนินอนุสาวรีย์เราสู้มาไม่ไกล (อยู่ติดถนนด้านขวา) ในบริเวณสำนักงานฯ มีศูนย์บริการนักท่องเที่ยว และศาลาริมน้ำไว้ ต้อนรับผู้มาเยือน และมีเส้นทางศึกษาธรรมชาติ "รู้สัตว์ รู้ป่า รู้กลไกธรรมชาติ" ระยะทางประมาณ 1,800 เมตร ใช้เวลาสั้นๆ เดินเล่นเรียนรู้ระบบนิเวศในป่าได้สบายๆ ..... ผ่านไปผ่านมาเชิญแวะเยี่ยมชมได้ทุกวัน
“รู้สัตว์ รู้ป่า รู้กลไกธรรมชาติ” ที่ “ธาราวิมานไพร”
“ธาราวิมานไพร” เป็นเส้นทางศึกษาธรรมชาติด้านข้างที่ทำการเขตฯ ระยะทาง 2,300 เมตร เพื่อให้นักเรียนนักศึกษา และผู้สนใจได้ใช้เป็นเส้นทางศึกษาสภาพป่า ระบบนิเวศวิทยาของป่าดงใหญ่ โดยมีจุดเน้นให้ผู้ใช้เส้นทางได้ “รู้สัตว์ รู้ป่า รู้กลไกธรรมชาติ”
ตลอดเส้นทางจะมีจุดศึกษาทั้งสิ้น 12 จุด ที่จะช่วยให้ผู้ใช้เส้นทางได้เห็นความสัมพันธ์ของสรรพสิ่งในป่าที่ล้วนเกื้อกูลกันและอำนวยประโยชน์ต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตบนโลกใบนี้ อาทิ แสงดีได้ไม้สูง, เพิงหินห้องพักของสัตว์ป่า, รางวัลแห่งการช่วยเหลือ, ข่อยเลี้ยงสัตว์ สัตว์เลี้ยงข่อย, พลังแห่งการกัดเซาะ, แอ่งน้ำคือชีวิต ฯลฯ
เส้นทางศึกษาธรรมชาติ “ธาราวิมานไพร” จะช่วยให้เราได้เข้าใจระบบนิเวศวิทยาของป่า ได้รู้จักพรรณไม้สำคัญสองข้างทาง ได้เห็นความงามของสภาพป่า ที่มีความหลากหลาย สวยงามด้วยพรรณไม้แปลกตา หินทรายขนาดใหญ่ที่เรียงรายเป็นเพิงผาตระหง่าน เถาวัลย์เลื้อยเกาะเกี่ยวอยู่ริมทางและปกคลุมเป็นหลังคา และสายน้ำที่ให้ความฉ่ำเย็นในเวลาที่เราอ่อนล้าจากการเดินทาง
ผู้สนใจจะเข้าไปใช้ประโยชน์เรียนรู้ธรรมชาติบนเส้นทางนี้ ติดต่อได้ที่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อำเภอโนนดินแดง จังหวัดบุรีรัมย์
หน่วยพิทักษ์ป่าละเลิงร้อยรู เป็นหน่วยงานย่อยของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ เหมาะสมสำหรับกิจกรรมศึกษาธรรมชาติ มีเส้นทางศึกษาธรรมชาติหลายเส้นทาง สภาพภายในมีอ่างเก็บน้ำลำนางรอง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดลำนางรองที่ไหลหล่อเลี้ยงพื้นที่บุรีรัมย์ มีพรรณไม้ที่น่าสนใจหลายชนิด และภายในยังมีทุ่งหญ้าขนาดใหญ่ โป่งธรรมชาติ และมีการจัดทำโป่งเทียมเสริม ทำให้เป็นบริเวณที่มีสัตว์ป่าอาศัยชุกชุม ทั้งยังเหมาะสำหรับการดูนกและดูผีเสื้อด้วย
พรุน้ำจืด หนึ่งในระบบนิเวศป่าดงใหญ่
ป่าพรุ (Swamp forest, Peat swamp forest) เป็นประเภทของป่าดิบชื้นประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในพื้นที่ราบลุ่ม เกิดจากแอ่งน้ำจืดเกิดขังตัวติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน มีการสะสมของชั้นดินอินทรีย์วัตถุ เช่น ซากพืช, ซากสัตว์, เศษซากของต้นไม้ ใบไม้ ต่าง ๆ จนย่อยสลายช้า ๆ กลายเป็นดินพีตหรือดินอินทรีย์ที่มีลักษณะหยุ่นยวบเหมือนฟองน้ำที่มีความหนาแน่นน้อยอุ้มน้ำได้มาก และเกิดป่าพรุขึ้นมาอีกครั้ง ดินพรุชั้นล่างมีอายุถึง 6,000-7,000 ปี ส่วนดินพรุชั้นบนอยู่ระหว่าง 700-1,000 ปี.....
ปกติป่าพรุจะเกิดในพื้นที่ที่เป็นทะเลมาก่อน แต่ที่เขตฯ ดงใหญ่ มีลักษณะเด่นคือเป็นป่าพรุน้ำจืด ดินโคลนในบริเวณพรุเป็นสีดำ ล้อมรอบด้วยป่าเฟิร์นที่สูงเกือบท่วมหัว เป็นจุดที่พบช้างป่ามักจะลงเล่นน้ำอยู่เสมอ
จุดชมวิวผาแดง และเส้นทางศึกษาธรรมชาติ รอยต่อระหว่างจังหวัดบุรีรัมย์กับจังหวัดสระแก้ว เป็นจุดที่มีทิวทัศน์งดงามและมีพรรณไม้น่าสนใจหลายชนิด .. ฝากไว้นิดหนึ่งว่า ถ้าเข้าไปเที่ยวชมก็ช่วยกันรักษาความสะอาด และไม่ขีดเขียนตามก้อนหินหรือต้นไม้ เพียงเท่านี้ ก็จะมีธรรมชาติสวยๆ ให้เราได้ชื่นชมกันไปนานๆ
เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ เป็นแหล่งดูผีเสื้อชั้นดีอีกแห่งของประเทศไทย สำรวจพบผีเสื้อ มากกว่่า ๑๐๐ ชนิด ฤดูฝนคือช่วงเวลาที่เหมาะสมในการดูผีเสื้อ ซึ่งจะพบผีเสื้อรวมอยู่เป็นกลุ่มใหญ่ จำนวนมากและหลากหลายชนิด ....
สำหรับผีเสื้อในสกุล "เหลืองหนาม" ที่พบ ได้แก่ ผีเสื้อเหลืองหนามธรรมดา ผีเสื้อเหลืองหนามแถบกว้าง ผีเสื้อเหลืองหนามประดับเพชร และผีเสื้อเหลืองหนามใหญ่โคนปีกดำ
ลานพุดผา มีสภาพเป็นดินละลุ ที่เกิดจากการกัดเซาะของน้ำและลมตามธรรมชาติ ซึ่งพัดพาส่วนที่เป็นดินปนทรายไหลไป เหลือแต่ส่วนที่แข็งกว่า กรวด และหิน ทำให้มีสภาพเป็นภูมิประเทศแปลกตา ดินที่ไม่สมบูรณ์ขาดแร่ธาตุอาหารพืชพรรณบริเวณนี้จึงเป็นไม้ที่เกิดได้ในดินตื้น ทนต่อความแห้งแล้งได้ดี แต่ก็มีความสวยงามเหมือนสวนไม้แคระ
.... ในเดือนกุมภาพันธ์-มีนาคม เป็นช่วงที่พุดผาเบ่งบาน ดอกสีขาวพร่างพราวตามต้น กลิ่นหอมชื่นใจ ช่วงปลายฝนต้นหนาว จะมีกล้วยไม้ดินและดอกหญ้าหลายชนิดสวยงาม พรรณไม้อื้นที่พบมาก เช่น ต้นศรีธนญชัยซึ่งยอดอ่อนและรูปทรงสวยงาม หนามแท่ง มะสัง ฯลฯ
เขตฯ ดงใหญ๋ เป็นป่าพื้นราบ ประกอบด้วยป่าดิบแล้ง ป่าเต็งรัง ป่าพรุ และทุ่งหญ้า แม้ไม่ใช่แหล่งที่มีกล้วยไม้มากมายเหมือนพื้นที่อนุรักษ์หลายๆ แห่ง แต่ระหว่างเส้นทางเดินก็พอมีความงามของกล้วยไม้เป็นรางวัลให้นักเดินทางได้ชุ่มชื่นใจ ช่วงปลายฝนต้นหนาวบริเวณป่าเต็งรัง มีกล้วยไม้ดินหลายชนิดให้ชม อย่างเลืองพิศมร และ บานดึก .... นี่คือเสน่ห์ของป่าดงใหญ่ ที่เราไม่อาจคาดเดาว่า การเดินทางแต่ละครั้งจะได้พบเจอสิ่งใดบ้าง แต่ที่แน่นอนคืดความสุขใจที่ได้อยู่ใกล้ชิดธรรมชาติที่สงบงาม
กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้ร่วมกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ จัด “โครงการส่งสัตว์คืนวนา เพื่อให้ป่าสมบูรณ์ เฉลิมพระเกียรติ 81 พรรษา มหาราชินี” ที่บริเวณหน่วยพิทักษ์ป่าละเลิงร้อยรู ครั้งที่ 2..... โดยในปี 2555 ปล่อยสัตว์ป่าจำพวกนกและไก่ป่า จำนวน 400 ตัว ซึ่งจากการติดตามพบว่าสัตว์ที่ปล่อยสามารถดำรงชีวิตในธรรมชาติได้ สำหรับในปี 2556 มีการปล่อยสัตว์ป่าจำพวกนก 6 ชนิด รวมจำนวน 298 ตัว ประกอบด้วย ไก่ป่าตุ้มหูขาว 235 ตัว เป็ดก่า 20 ตัว กวางป่า 12 ตัว นกแก๊ก 10 ตัว และเนื้อทรายอีก 6 ตัว ที่นำมาจากสถานีเพาะเลี้ยงช่องกล่ำบน จ.สระแก้ว และสถานีเพาะเลี้ยงจุฬาภรณ์ จ.บุรีรัมย์ เพื่อเพิ่มประชากรสัตว์ป่า และรักษาสมดุลทางระบบนิเวศให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ
หน่วยพิทักษ์ป่า "ละเริงร้อยรู" อยู่ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ จ.บุรีรัมย์ เป็นป่าที่อุดมสมบูรณ์แห่งสุดท้ายของจังหวัดบุรีรัมย์ และเป็นแหล่งต้นน้ำลำธารที่สำคัญมีอาณาเขตติดต่อกับอุทยานแห่งชาติต่าง ๆ ทั้ง 3 ด้าน คือ ด้านตะวันตกและทิตใต้ติดกับอุทยานแห่งชาติตาพระยา ทิศเหนือติดกับอุทยานแห่งชาติปางสีดา ทำให้บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยพืชอาหารสัตว์ จึงมีสัตว์ป่าอาศัยอยู่อย่างชุกชุม เช่น ช้าง กระทิง วัวแดง หมี เสือ เก้ง กวาง หมาจิ้งจอก หมาใน ลิง ชะนี สัตว์เลื้อยคลาน เช่น ตะกวด นิ่ม งูชนิดต่างๆ สัตว์ปีกมีมากกว่า 160 ชนิด เช่น ไก่ฟ้าพญาลอ นกเปล้าหน้าเหลือง ไก่ป่า นกพญาไฟใหญ่ นกแซวสวรรค์ นกแขกเต้า นกขุนทอง นกแก็ก เป็นต้น
ผู้เขียน : ดร.สุวัฒน์ อุ่นทานนท์
อ้างอิง : 1.Facebookเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่ https://www.facebook.com/738093182872458?fref=ts
2. วิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี
3. Facebook ศากุน ศิริพานิช ประชาสัมพันธ์ สพป.บุรีรัมย์ เขต 1
ภาพประกอบ : Facebookเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าดงใหญ่/ศากุน ศิริพานิช
ปรับปรุงล่าสุด : 10/เม.ย./2557